กงเต๊กหลวงในรัชกาลที่ ๙

วันอังคารที่ ๒๘ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐  เวลา ๒๐:๔๕ น. #สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินโดยรถยนต์พระที่นั่งจากพระที่นั่งอัมพรสถานถึงยังพระบรมมหาราชวัง เสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อย ทรงกราบ แล้วเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องนมัสการบูชาพระพุทธรูปที่หน้าพระแท่นมหาเศวตฉัตร ทรงกราบ ประทับพระราชอาสน์

บรรพชิตจีน ๒๑ รูป สวดพระพุทธมนต์ เชิญเสด็จดวงพระวิญญาณข้ามสะพาน  บรรพชิตจีน ๒๑ รูป นำเสด็จดวงพระวิญญาณลงจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้ หม่อมเจ้ามงคลเฉลิม ยุคล เชิญเครื่องทองน้อย และพลโท หม่อมเจ้าเฉลิมศึก ยุคล เชิญธงพุ่มดวงพระวิญญาณ ลงทางบันไดหน้าพระที่นั่งด้านตะวันตกไปยังมณฑลพิธี

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตามธงพุ่มดวงพระวิญญาณลงมายังมณฑลพิธี ประทับพระราชอาสน์ ณ ทิมคดตะวันออก  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเพื่อบูชาเทพรักษาสะพานที่หัวสะพาน ทรงรับกระดาษเงินกระดาษทอง แล้วพระราชทานให้เจ้าพนักงานนำไปเผา บรรพชิตจีน ๒๑ รูป ตั้งขบวนสวดพระพุทธมนต์นำดวงพระวิญญาณเสด็จข้ามสะพานโอฆสงสารเที่ยวไปจนครบสามรอบ ระหว่างนั้นสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตามเครื่องทองน้อยและธงพุ่มเชิญดวงพระวิญญาณ แล้วทรงโปรยเหรียญลงในขันสาครที่หัวสะพานและท้ายสะพาน

เมื่อเสด็จลงท้ายสะพานรอบที่สามแล้ว บรรพชิตจีนหยุดยืนสวดด้านข้างมณฑลพิธี  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงจุดธูปเทียนเครื่องทองน้อยเพื่อบูชาเทพรักษาสะพานที่ท้ายสะพาน ทรงรับกระดาษเงินกระดาษทอง แล้วพระราชทานให้เจ้าพนักงานนำไปเผา บรรพชิตจีนตั้งขบวนสวดพระพุทธมนต์นำดวงพระวิญญาณเสด็จข้ามสะพานโอฆสงสารเที่ยวกลับจนครบสามรอบ

ขณะนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จตามเครื่องทองน้อยและธงพุ่มเชิญดวงพระวิญญาณ ทรงโปรยเหรียญลงในขันสาครที่หัวสะพานและท้ายสะพาน  จากนั้นประทับพระราชอาสน์  บรรพชิตจีนยืนสวดหน้ามณฑลพิธี บรรพชิตจีนเชิญดวงพระวิญญาณเสด็จขึ้นพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาททางบันไดหน้าพระที่นั่งด้านตะวันตก  สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จ ตามเครื่องทองน้อยและธงพุ่มดวงพระวิญญาณ  ประทับพระราชอาสน์ บรรพชิตจีนยืนสวดพระพุทธมนต์แล้วเดินออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท

จากนั้น สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จไปทรงกราบพระพุทธรูปที่หน้าเครื่องนมัสการ เสด็จไปทรงกราบหน้าพระโกศพระบรมศพ แล้วเสด็จออกจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาท ลงทางบันไดมุขกระสันพระที่นั่งพิมานรัตยา แล้วเสด็จพระราชดำเนินกลับ.

#กงเต๊กหลวง

วันเสด็จเถลิงราชมไหศวรรยสมบัติบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่เจ็ด

๒๕ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๘-๒๕๖๐ รำลึก ๙๑ ปี…#วันเสด็จเถลิงราชมไหศวรรยสมบัติบรมราชาภิเษกในรัชกาลที่เจ็ด

ในคราวนั้น…พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหมื่นชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า #สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่๑๑แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ได้ทรงถวายอดิเรกบทพิเศษแก่…#พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๗  ในคราวพระราชพิธีบรมราชาภิเษก  เมื่อวันที่ ๒๕ กุมภาพันธ์ พุทธศักราช ๒๔๖๘ (นับศักราชอย่างใหม่เป็น ๒๔๖๙)  ความว่า…

“…ขอถวายพระพร  เจริญพระราชสิริสวัสดิ์พิพัฒนมงคล   พระชนมสุขทุกประการ จงมีแด่สมเด็จบรมบพิตรพระราชสมภารพระองค์ สมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก  พระปกเกล้าเจ้าสยามธรรมิกมหาราชาธิราช  ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐ…”

::::

:::

::

:

ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ ๒๐ เมษายน ๒๔๖๙ ถมีพระบรมราชโองการให้เลื่อนกรมเป็นกรมหลวง มีพระนามตามจารึกในพระสุพรรณบัฏว่า…

“…พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน ขัติยมหาเจษฎานุพงศ อริยวงศาคตญาณวิมล สกลมหาสงฆปรินายก ตรีปิฎกกลาโกศล ภัทรผลพูลสวัสดิสัทธรรมทีปกร ไทวภราดรมหาราชาภินิษกรมณาจารย์ ภุชงคบุราภิธานครุฐานิยมมหาบัณฑิต สุขสิทธิหิตรรถเมตตาขันตยาศรัย ศรีรัตนตรัยศรณาภิรัต สยามาธิปัตยมหาสังฆปาโมกขประธานาธิบดีศรีสมณุดมบรมบพิตร  เสด็จสถิต ณ วัดราชบพิธ ราชวรวิหาร พระอารามหลวง สิงหนาม  ทรงศักดินา ๑๑๐๐๐ ตามกำหนดอย่างพระองค์เจ้าต่างกรมตำแหน่งใหญ่ในพระบรมมหาราชวัง และดำรงพระอิศริยยศยิ่งใหญ่ในฝ่ายพุทธจักร สมณศักดิที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้า…”

ตามประกาศพระบรมราชโองการในราชกิจจานุเบกษา เล่ม ๔๓ หน้า ๑๐๘-๑๑๒ ลงวันที่ ๒๕ เมษายน ๒๔๖๙ http://www.ratchakitcha.soc.go.th/DATA/PDF/2469/A/108.PDF

ออกพระนามอย่างเป็นประถมว่า…”พระเจ้าวรวงศ์เธอ กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า

#น้อมสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณล้นพ้นหาที่สุดมิได้

ศิลปินแห่งชาติ ๒๕๕๙

คณะกรรมการอำนวยการคัดเลือกศิลปินแห่งชาติ กระทรวงวัฒนธรรม มีมติประกาศรายชื่อ…#ศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙ เนื่องในโอกาส “#วันศิลปินแห่งชาติ” วันที่ ๒๔ กุมภาพันธ์ของทุกปี จำนวนรวม ๑๒ คน ใน ๓ สาขา ได้แก่

     ๑. สาขาทัศนศิลป์ จำนวน ๔ คน ประกอบด้วย

         ๑.๑  นางคำสอน สระทอง (ประณีตศิลป์-ทอผ้า)

         ๑.๒  นายเดโช บูรณบรรพต (ภาพถ่าย)

         ๑.๓  นางลาวัณย์ อุปอินทร์ (จิตรกรรม)

         ๑.๔  นายเสนอ นิลเดช (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี)

     ๒. สาขาวรรณศิลป์ จำนวน ๔ คน ประกอบด้วย

         ๒.๑  นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ

         ๒.๒  นางชูวงศ์ ฉายะจินดา

         ๒.๓  นายธัญญา สังขพันธานนท์

         ๒.๔  นางเรืองอุไร กุศลาสัย

     ๓. สาขาศิลปะการแสดง จำนวน ๔ คน ประกอบด้วย

         ๓.๑  นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี (ดนตรีไทยสากล)

         ๓.๒  นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน)

         ๓.๓  นายสมบัติ เมทะนี (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์)

         ๓.๔  นายหะมะ แบลือแบ (มะยะหา) (การแสดงพื้นบ้าน-ดีเกร์ฮูลู)

อนึ่ง  กรมส่งเสริมวัฒนธรรม (สวธ.) จะนำความกราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชวโรกาสนำศิลปินแห่งชาติทั้ง ๑๒ คน เข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท #สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร เพื่อรับพระราชทานเข็มและโล่เชิดชูเกียรติในโอกาสต่อไป

ทั้งนี้  ศิลปินแห่งชาติจะได้รับการดูแลจากรัฐบาลเป็นสิทธิประโยชน์ด้านต่างๆ ทั้งในการดำรงชีพ (มีเงินเดือนให้เดือนละสองหมื่นบาทจนสิ้นอายุขัย) การช่วยเหลือด้านสวัสดิการต่างๆ และการรักษาพยาบาลตามระเบียบของทางราชการ ตลอดจนจัดการปลงศพให้เมื่อวายชนม์ มีการดำเนินการขอพระราชทานเพลิงศพและการจัดพิมพ์หนังสือที่ระลึกในการออกเมรุให้ นอกเหนือไปจากการจัดนิทรรศการแสดงประวัติและผลงานของศิลปินแห่งชาติแต่ละคนเพื่อเผยแพร่สู่สาธารณชนให้เป็นเกียรติและเป็นที่ประจักษ์ในวาระแรกเมื่อรับรางวัล รวมทั้งดำเนินการขอพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์อันเป็นที่สรรเสริญยิ่งดิเรกคุณาภรณ์ [ชั้นที่สี่ จตุตถดิเรกคุณาภรณ์ (จ.ภ.)] ให้เป็นเกียรติด้วย

นับตั้งแต่เริ่ม “โครงการศิลปินแห่งชาติ” เมื่อพุทธศักราช ๒๕๒๔ มีศิลปินสาขาต่างๆ ได้รับการยกย่องเชิดชูเกียรติเป็นศิลปินแห่งชาติแล้วจำนวน ๒๖๖ คน เมื่อรวมกับที่ประกาศในพุทธศักราช ๒๕๕๙ อีกจำนวน ๑๒ คน จะมีจำนวนรวมทั้งสิ้น ๒๗๘ คน เสียชีวิตไปแล้วจำนวน ๑๒๐ คน คงเหลือที่มีชีวิตอยู่.

◎ #ประวัติสังเขปศิลปินแห่งชาติ ประจำปี ๒๕๕๙

#สาขาทัศนศิลป์ :

๏  นางคำสอน สระทอง :  ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ประณีตศิลป์-ทอผ้า) ปัจจุบันอายุ ๗๗ ปี เป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ผลงานด้านการทอผ้าแพรวา คิดประดิษฐ์รูปแบบการทอผ้าที่เรียกว่า “เขาลาย หรือ ตะกรอลาย” เป็นผู้นำกลุ่มทอผ้าไหมแพรวาทอผ้าไหมแพรวาผืนยาวที่สุดในโลก ๙๙ เมตร ๖๐ ลาย ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ และผ้าไหมแพรวาขนาดหน้ากว้างพิเศษ ๘๐ เซนติเมตร ความยาว ๙ เมตร จำนวน ๑๐ ลาย รวม ๔๓ แถว ขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร นับเป็นผลงานที่ส่งเสริมให้ผ้าไหมแพรวาเป็นที่รู้จักแพร่หลายมากยิ่งขึ้น

๏  นายเดโช บูรณบรรพต :  ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (ภาพถ่าย) ปัจจุบันอายุ ๖๓ ปี สร้างสรรค์ผลงานแนวชีวิตที่มีศิลปะจนเป็นเอกลักษณ์ เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๔ สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ มีพระราชเสาวนีย์ให้ฉายพระรูปสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน) เพื่อใช้ในการเผยแพร่  ด้วยผลงานการถ่ายภาพที่โดดเด่นจึงได้รับโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมให้เป็นช่างภาพบันทึกพระราชกรณียกิจในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในการเสด็จเยือนต่างประเทศในหลายคราว

๏  นางลาวัณย์ อุปอินทร์ :  ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (จิตรกรรม) ปัจจุบันอายุ ๘๑ ปี เป็นศิลปินและนักวิชาการที่มีชีวิตเรียบง่าย เป็นลูกศิษย์รุ่นแรกๆ ของศาสตราจารย์ศิลป พีระศรี ผู้วางรากฐานมหาวิทยาลัยศิลปากรและบิดาแห่งศิลปะร่วมสมัยในประเทศไทย รับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรจนเกษียณอายุราชการ มีความชำนาญในการเขียนภาพเหมือนบุคคลเป็นพิเศษ ได้เขียนภาพบุคคลสำคัญๆ ไว้จำนวนมาก อาทิ นายชวน หลีกภัย, นายจักรพันธุ์ โปษยกฤต ฯลฯ เป็นต้น จนเป็นที่ยอมรับในสังคมและวงการศิลปะ และยังได้รับพระมหากรุณาธิคุณจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร ให้ได้ถวายงานในการเขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ส่วนพระองค์ และพระสาทิสลักษณ์ของพระบรมวงศานุวงศ์หลายพระองค์เพื่อประดิษฐานในพระราชฐานต่าง ๆ อาทิ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน, พระตำหนักภูพิงคราชนิเวศน์ เป็นต้น

๏  นายเสนอ นิลเดช :  ศิลปินแห่งชาติ สาขาทัศนศิลป์ (สถาปัตยกรรมไทยประเพณี) ปัจจุบันอายุ ๘๒ ปี ได้รับแรงบันดาลใจในการออกแบบสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมจากความรักในวัฒนธรรม ประวัติศาสตร์ โบราณคดี คติ-สัญลักษณ์ โดยใช้หลักการการสร้างสรรค์สถาปัตยกรรมคือศิลปกรรม นอกจากการรับราชการเป็นอาจารย์ในมหาวิทยาลัยศิลปากรจนมีตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์แล้ว ยังได้รับเชิญไปเป็นอาจารย์ผู้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับรายวิชาทางสถาปัตยกรรมไทยตามสถาบันการศึกษาต่างๆ เป็นที่ปรึกษาและกรรมการของหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย อาทิ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีเทพ โครงการอุทยานประวัติศาสตร์ศรีสัชนาลัย และโครงการอนุรักษ์พระที่นั่งเวหาสน์จำรูญ เป็นต้น

#สาขาวรรณศิลป์

๏  นายกิตติศักดิ์ มีสมสืบ : ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ใช้นามปากกา “ศักดิ์สิริ มีสมสืบ” เป็นกวีผู้มีผลงานทั้งประเภทร้อยแก้วและร้อยกรองสืบเนื่องอย่างสม่ำเสมอตลอดเวลากว่าสามทศวรรษ ผลงานมีลักษณะสร้างสรรค์ และโดดเด่นในเชิงวรรณศิลป์ ทั้งด้านรูปแบบ เนื้อหา และความคิด กวีนิพนธ์มีทั้งประเภทที่มีฉันทลักษณ์และไร้ฉันทลักษณ์ มีทั้งที่ดำเนินตามขนบและต่างจากขนบดั้งเดิม โดดเด่นด้วยการสรรคำที่เรียบง่าย แต่มีลีลาและจังหวะที่เป็นอัตลักษณ์ สร้างสรรค์ลำนำเฉพาะตนอันทรงพลังสอดคล้องกับเนื้อหากระทบใจและเร้าความคิดผู้อ่าน บทกวีมีความลุ่มลึกตีความหมายได้หลายระดับตามระดับความรับรู้และประสบการณ์ของผู้อ่าน งานเขียนส่วนใหญ่นำเสนอภาพสังคมร่วมสมัยที่วิถีชีวิตผู้คนอาจเลื่อนไหลไปตามกระแสสังคมจนวัตถุครอบงำจิตวิญญาณและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ กวีนิพนธ์ของยังโดดเด่นด้วยลักษณะประสานศิลป์โดยใช้ศักยภาพด้านดนตรี และจิตรกรรมในการนำเสนอผลงาน ทั้งในรูปแบบหนังสือและสื่อร่วมสมัยรูปแบบต่างๆ การอ่านขับขานบทกวีประกอบการแสดงดนตรี ทำให้สามารถเผยแพร่ได้ในวงกว้างและเข้าถึงกลุ่มผู้ฟังได้ทุกวัยโดยเฉพาะเยาวชน

๏  นางชูวงศ์ ฉายะจินดา : ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ปัจจุบันอายุ ๘๖ ปี และพำนักอยู่ที่ประเทศออสเตรเลีย  สร้างสรรค์ผลงานวรรณกรรมมายาวนานกว่าหกทศวรรษ เป็นนักเขียนนวนิยายสตรีที่มีผลงานพิมพ์เผยแพร่แล้วกว่า ๑๐๐ เรื่อง และหลายเรื่องได้รับความนิยมนำไปสร้างเป็นภาพยนตร์ ละครโทรทัศน์ และละครวิทยุหลายครั้ง เช่น จำเลยรัก ตำรับรัก เทพบุตรในฝัน กามเทพหลงทาง เงาอโศก พระจันทร์แดง สุดสายป่าน กำแพงเงินตรา และเกิดเป็นหงส์ ฯลฯ  นอกจากนี้ ยังมีเรื่องสั้น สารคดี เรื่องแปล นวนิยายส่วนใหญ่เป็นนวนิยายรักพาฝันนำเสนอปัญหามิติต่างๆ ของความรัก เน้นการนำเสนอตัวละครเอกฝ่ายหญิงที่เป็นแบบอย่างของกุลสตรีไทย มั่นคงในความรัก และความดีทำให้สามารถเอาชนะอุปสรรคในชีวิตได้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงจากจินตนาการ และสำนวนภาษาที่ราบรื่นชวนอ่านแล้ว เน้นย้ำคติธรรมเรื่อง “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” และมุ่งหวังให้ผลงานของตนสร้างความเข้าใจ และความเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์อีกด้วย

๏  นายธัญญา สังขพันธานนท์  : ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ใช้นามปากกาว่า “ไพฑูรย์ ธัญญา”  เริ่มเติบโตทางความคิดหลังเกิดเหตุการณ์ “๑๔ ตุลา” จากการอ่านวรรณกรรมจำนวนมาก จึงปรารถนาจะเขียนหนังสือบอกเล่าความคิดของตนผ่านเรื่องสั้นชื่อ “ความตายของปัญญาชน” เป็นเรื่องแรก หลังจากนั้นได้เขียนเรื่องสั้นส่งประกวดในที่ต่างๆ และมักได้รับรางวัลชนะเลิศ ผลงานรวมเรื่องสั้นเล่มแรกชื่อ “ก่อกองทราย” ได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (ซีไรต์) เมื่อพุทธศักราช ๒๕๓๐  จากนั้นจึงมีหนังสือรวมเรื่องสั้น นวนิยาย หนังสือรวมบทกวี ตีพิมพ์เผยแพร่อย่างสม่ำเสมอจนถึงปัจจุบันและได้รับรางวัลอย่างต่อเนื่อง ผลงานเรื่องสั้นหลายเรื่องได้รับการแปลเป็นภาษาต่างประเทศ  งานเขียนเป็นวรรณกรรมวิพากษ์สังคม นำเสนอภาพความเป็นจริงของชีวิตคนเล็กคนน้อยในท้องถิ่นของไทย หลายเรื่องเน้นการเสียดสีวิพากษ์สังคมอย่างรุนแรง  ปัจจุบันรับราชการเป็นอาจารย์ประจำมหาวิทยาลัยมหาสารคาม ดำรงตำแหน่งทางวิชาการเป็นรองศาสตราจารย์

๏  นางเรืองอุไร กุศลาสัย : ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์  ปัจจุบันอายุ ๙๖ ปี สำเร็จการศึกษาเป็นอักษรศาสตรบัณฑิต จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้รับทุนวัฒนธรรมสัมพันธ์จากรัฐบาลอินเดียไปศึกษาภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต ภาษาฮินดี และวัฒนธรรมอินเดียโบราณ ที่มหาวิทยาลัยฮินดูพาราณสี จนได้รับประกาศนียบัตรภาษาสันสกฤตและภาษาฮินดี ได้เริ่มรับราชการเป็นอาจารย์โรงเรียนฝึกหัดครูมัธยมและเกษียณอายุราชการที่คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร และได้รับแต่งตั้งเป็นศาสตราจารย์พิเศษของมหาวิทยาลัยศิลปากร  เริ่มเขียนหนังสือในช่วงที่เข้ารับราชการใหม่ๆ ได้เขียนเรื่อง “ญี่ปุ่น-ไทยผูกพันพันธมิตร” เมื่อพุทธศักราช ๒๔๙๓ ได้ร่วมงานกับนายกรุณา กุศลาสัย (ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ปี ๒๕๔๖) แปลมหากาพย์พุทธจริตเป็นภาษาไทย หลังจากนั้นจึงได้สร้างสรรค์ผลงานร่วมกันในนามปากกา “กรุณา-เรืองอุไร กุศลาสัย” อีกหลายเรื่อง เช่น “เมฆทูต” (ของ กาลิทาส) และ “คีตาญชลี” (ของ รพินทรนาถ ฐากูร–กวีชาวเอเชียรางวัลโนเบลคนแรก) รวมถึงมีผลงานสร้างสรรค์ในนามของตนเอง ๕ ประเภท ได้แก่ งานแปล และงานนิพนธ์เกี่ยวกับภารตวิทยา กวีนิพนธ์ และประวัติเพลง ตำรา คู่มือ หนังสืออ่านเพิ่มเติมชั้นประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตามหลักสูตรกระทรวงศึกษาธิการ เสียงร้องทำนองเสนาะ เพลงกล่อมลูก และเพลงต่างๆ ตลอดจนผลงานในลักษณะการเผยแพร่ความรู้ ผลงานนิพนธ์เหล่านี้ได้รับการตีพิมพ์ซ้ำอย่างสม่ำเสมอ สร้างสรรค์งานแปลและงานแต่งต่อเนื่องกว่าห้าทศวรรษ ผลงานดังกล่าวเปิดประตูสู่โลกวรรณกรรมของอินเดียและเปิดพรมแดนความรู้เรื่องภารตวิทยาแก่ผู้อ่านชาวไทย ไม่ใช่เพียงเพราะการคัดเลือกต้นฉบับที่เป็นผลงานชิ้นเอกของนักเขียนและกวีคนสำคัญของอินเดีย แต่เป็นเพราะการแปลที่ถอดความครบถ้วนถูกต้อง และใช้ภาษาไทยไพเราะ ใช้วงศัพท์วรรณคดีที่มีความหมายรุ่มรวยล้ำลึก จึงเป็นผลงานนิพนธ์อันทรงคุณค่าอย่างยิ่งในวงวรรณคดีไทย

#สาขาศิลปะการแสดง :

๏  นายธนิสร์ ศรีกลิ่นดี : ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ดนตรีไทยสากล) ปัจจุบันอายุ ๖๕ ปี มีประสบการณ์ทางด้านดนตรีอย่างสูง เป็นหนึ่งในสมาชิกวง “คาราบาว” ซึ่งเป็นวงดนตรีเพื่อชีวิตที่มีชื่อเสียง  โดยได้เป็นผู้แต่งเติมสีสันให้กับงานเพลงของวงคาราบาวในทุกบทเพลง มีคุณลักษณะเฉพาะมีความเป็นเอกลักษณ์ เช่น เพลง “เมดอินไทยแลนด์” ที่ใช้เสียงขลุ่ยปลุกค่านิยมความเป็นไทยขึ้นมาจนถึงทุกวันนี้ หรือในการแสดงดนตรีเป็นส่วนตัว ได้ใช้ “ขลุ่ย” อันเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรกในชีวิตขึ้นมาปลุกให้คนไทยได้ร่วมอนุรักษ์ความเป็นไทยในงานเพลงของตนเองได้อย่างสวยงาม เช่น เพลง “ทานตะวัน” ฯลฯ  หรือแม้การอัญเชิญบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ บรมนาถบพิตร เช่น เพลง “ความฝันอันสูงสุด” ที่ใช้เสียงขลุ่ยสะกดอารมณ์ให้เกิดความรักชาติได้โดยพลัน

๏  นางบัวเรียว รัตนมณีภรณ์ : ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ช่างฟ้อน) ปัจจุบันอายุ ๗๐ ปี  เริ่มต้นเรียนการฟ้อนจากบิดาตั้งแต่อายุ ๘ ขวบ ได้รับการถ่ายทอดท่ารำต่างๆ  เช่น ท่าฟ้อนสาวไหมจากบิดา  ท่ารำฟ้อนเล็บ ฟ้อนเทียนรำสีนวล ยวนรำพัด สร้อยแสงแดง ฟ้อนเงี้ยว จากนายโม ใจสม อดีตนักดนตรีและนาฏศิลปินชั้นครูของอำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ  ได้ช่วยปรับปรุง “เพลงสาวไหมทางเชียงราย” ขึ้น ต่อเนื่องจากของเดิมที่แปลงทำนองจากเพลงลาวสมเด็จ จนการฟ้อนสาวไหมกลายเป็นเอกลักษณ์การฟ้อนของชาวบ้านศรีทรายมูลและจังหวัดเชียงรายจวบจนปัจจุบัน ได้นำไปฟ้อนเข้ากับจังหวะของกลองสิ้งหม้องในการแห่ครัวทานในงานปอยหลวง งานทอดผ้าป่า งานกฐิน นับตั้งแต่พุทธศักราช ๒๕๑๐ เป็นต้นมา ได้นำฟ้อนสาวไหมและฟ้อนพื้นบ้านไปเผยแพร่ในพื้นที่ต่างๆ อย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะกับชมรมพื้นบ้านล้านนา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งให้ความสำคัญทั้งการศึกษาวิจัยและการอนุรักษ์ลีลาการฟ้อนแบบดั้งเดิม ซึ่งต่อมา นางพลอยศรี สรรพศรี ผู้เคยเป็นนาฏกรในคุ้มพระราชชายาเจ้าดารารัศมีและคุ้มเจ้าแก้วนวรัฐ เจ้าผู้ครองนครเชียงใหม่ ได้นำท่าฟ้อนสาวไหมไปพัฒนาขึ้นเป็นสาวไหมอีกทางหนึ่งโดยใช้ทำนองที่แตกต่างกันออกไป (เพลงปั่นฝ้าย) บรรจุเป็นการฟ้อนแบบหนึ่งในวิทยาลัยนาฏศิลปเชียงใหม่

๏  นายสมบัติ เมทะนี : ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (ภาพยนตร์และละครโทรทัศน์) ปัจจุบันอายุ ๘๐ ปี เป็น “#พระเอกตลอดกาล” ในความนิยมของประชาชนชาวไทย เป็นนักแสดงภาพยนตร์ นักแสดงละครโทรทัศน์ ผู้กำกับภาพยนตร์ ผู้สร้างภาพยนตร์ และนักร้อง เป็นผู้มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง นิยมการเพาะกายและรักษาสุขภาพ  ได้เริ่มต้นเข้าสู่วงการบันเทิงเมื่อพุทธศักราช ๒๕๐๓ โดยรับบทเป็นพระเอกละครโทรทัศน์ เรื่อง “หัวใจปรารถนา” แสดงคู่กับ “วิไลวรรณ วัฒนพานิช” จากนั้นในพุทธศักราช ๒๕๐๔ จึงหันไปแสดงภาพยนตร์เรื่องแรก เรื่อง “รุ้งเพชร” ของกมลศิลป์ภาพยนตร์ แสดงคู่กับ “รัตนาภรณ์ อินทรกำแหง” นับจากนั้นได้มีผลงานแสดงภาพยนตร์ตั้งแต่ยุค ๑๖ มิลลิเมตร (ม.ม.) จนถึงยุคภาพยนตร์สโคป ๓๕ ม.ม. (เสียงพากย์ในฟิล์ม-ซาวด์ออนฟิล์ม) มีผลงานการแสดงร่วมกับนักแสดงชั้นนำและผู้สร้าง-ผู้กำกับชั้นนำของวงการบันเทิงไทยมามากมาย เป็นนักแสดงยอดนิยมที่สถาบัน “กินเนสบุ๊ค” (#GWR) ได้บันทึกไว้ว่าเป็น “#นักแสดงที่รับบทพระเอกมากที่สุดในโลก“ (ถึง ๖๑๗ เรื่อง)  เมื่อพักจากการแสดงด้วยปัญหาด้านสุขภาพได้ศึกษาจนสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท และเอก  เคยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภาและได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

๏  นายหะมะ แบลือแบ : ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง (การแสดงพื้นบ้าน-ดิเกร์ฮูลู) ปัจจุบันอายุ ๖๗ ปี ด้วยความคิดว่าการแสดงดิเกร์ฮูลูเป็นศิลปะการแสดงที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ เริ่มมีความสนใจดิเกร์ฮูลูตั้งแต่อายุย่างเข้า ๑๖ ปี มักจะติดตามปู่ไปศึกษาและเรียนรู้ด้วยทุกครั้ง จนมีความสามารถแสดงดิเกร์ฮูลูได้   ครั้นเมื่ออายุ ๒๑ ปี จึงชวนเพื่อนในหมู่บ้านที่สนใจจัดตั้งคณะดิเกร์ฮูลูรุ่นใหม่ ชื่อว่า “คณะมะลูกทุ่ง” และเป็นหัวหน้าคณะที่มีอายุน้อยที่สุด ได้แสดงบนเวทีเป็นครั้งแรกด้วยท่วงท่าร้องรำที่แปลกไปจากการแสดงของคณะอื่นๆ โดยนำเพลงไทยลูกทุ่งมาขับร้องในทำนองเพลงพื้นเมืองมลายู นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา “คณะดิเกร์ฮูลูมะลูกทุ่ง” ก็เป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็ว ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อคณะเป็น “คณะมะ ยะหา” เพื่อต้องการให้อำเภอยะหาได้เป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป  มีผลงานการแสดงที่โดดเด่นคือการสอดแทรกสาระความรู้เข้าไปในการแสดง ได้ผสมผสานการขับร้องภาษาไทยและภาษามลายูท้องถิ่นด้วยจังหวะที่รวดเร็วทันสมัย สามารถสื่อสร้างความเข้าใจและเชื่อมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศไทยและประเทศมาเลเซีย ทำให้มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ต่อมาสถานศึกษาในจังหวัดยะลาและจังหวัดใกล้เคียงได้บรรจุการแสดงดิเกร์ฮูลูเข้าไว้ในหลักสูตรท้องถิ่นด้วย.

#ศิลปินแห่งชาติ๒๕๕๙

TRAPPIST-1 System

#NASA แถลงว่าค้นพบดาวเคราะห์นอกระบบสุริยะ จำนวน 1,284 ดวง ในจำนวนนี้ค้นพบระบบดาวเคราะห์ 7 ดวง (#TRAPPIST-1 System) ห่างออกไป 40 ปีแสง ซึ่งไม่ไกลที่จะไปสำรวจ โดยที่มีดาว 6 ดวง มีอุณหภูมิและขนาดพอๆ กับโลก ส่วนอีก 3 ดวงมีความเป็นไปได้ว่ามีมหาสมุทร และสันนิษฐานว่าในจำนวน 9 ดวงนี้ อาจมีสิ่งมีชีวิต.

(22 ก.พ.)

ซากุระ

#ซากุระ

◎  มวลพฤกษามีมาลาประดับต้น

พร่างพราวยลพรายตาพาหฤหรรษ์

ดอกดวงเด่นเห็นสะพรั่งพร่างพรายพรรณ

มาลีวัลย์วรรณพฤกษ์นึกนิยม

◎  แม้นเธอผลิพรรณพร่างปีละหน

ชวนรอยลชนรอยวนชวนชื่นสม

ซากุระดารดาษกลาดเกลื่อนชม

มาลาภิรมย์พรมพร่างพิภพสบสวรรค์เอย ๚ะ๛

ตึก หน้าพระลาน

๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๖๐ / ๒๓:๕๐ น.

ภาพประกอบ : ภาพถ่ายทางอากาศแสดงแนวต้นซากุระที่ผลิบานในเมืองคาวาซุ แหล่งชมซากุระบานอันเลื่องชื่อในเขตตอนกลางของประเทศญี่ปุ่น #Kyodo

ระบบพลังงานสุริยะ CSP

#โรงไฟฟ้าพลังสุริยะแบบใหม่

ระบบพลังงานสุริยะ #CSP ไม่ต้องใช้แบตเตอรีเพื่อเก็บสำรองไฟอีกต่อไป แต่นำพลังงานที่ได้มาต้มน้ำ แล้วใช้แรงดันไอน้ำไปปั่น generator turbine เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าได้เช่นเดียวกับโรงไฟ้าถ่านหิน

แต่สะอาด…ไม่ก่อให้เกิดมลพิษ.

LordBadenPowell

​พลโท โรเบิร์ต สตีเฟนสัน สมีธ บาเดน-โพเวล “บารอนชั้นที่หนึ่ง บาเดน-โพเวล“ หรือชื่ออันเป็นที่นิยมเรียกคือ “ลอร์ดบาเดน-โพเวล“ (๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๔๐๐ – ๘ มกราคม ๒๔๘๔) กำเนิดในกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงแก่กรรมในประเทศเคนยา…“#บิดาแห่งลูกเสือโลก

Lieutenant General Robert Stephenson Smyth Baden-Powell, 1st Baron Baden-Powell, OM GCMG GCVO KCB DL (22 February 1857 – 8 January 1941), also known as “B-P” or “Lord Baden-Powell“, was a British Army officer, writer, author of Scouting for Boys which was an inspiration for the Scout Movement, founder and first Chief Scout of The Boy Scouts Association and founder of the Girl Guides.

#BP #LordBadenPowell

#HBD2BP 🎆🎉 #160thBPbirthdayanniversary

Zealandia

ภายหลังการวิจัยมาเป็น 10 ปี นักภูมิศาสตร์ได้ประกาศการค้นพบ…#ทวีปใหม่สุดของโลก เรียกเบื้องต้นว่า “#ซีแลนเดีย” (#Zealandia) มีขนาดพื้นที่กว่า 4.9 ล้านตารางกิโลเมตร จมอยู่ใต้ประเทศนิวซีแลนด์และนิวแคลิโดเนีย.

#lostcontinent

วันรักสัตว์เลี้ยงโลก

20 กุมภาพันธ์…#วันรักสัตว์เลี้ยงโลก (Love Your Pet Day)

เพื่อแสดงความรักต่อสัตว์เลี้ยงที่น่ารักและซื่อสัตย์ของเรา.

#loveyourpetday

ท่านหญิงพูน

​๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๓๘ คล้ายวันประสูติ…หม่อมเจ้าพูนพิศมัย ดิศกุล พระธิดาลำดับที่ ๑๑ ใน…สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ และลำดับที่ ๕ ในหม่อมเฉื่อย (สกุลเดิม “ยมาภัย“) ที่ #วังสามยอด (บริเวณสะพานดำรงสถิต ในปัจจุบัน)

“#ท่านหญิงพูน“…เคยดำรงตำแหน่ง #ประธานองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธ์แห่งโลก (พ.ส.ล.) เป็นคนแรก (ระหว่างพุทธศักราช ๒๕๐๗-๒๕๒๗)

เนื่องจากมีโอกาสตามเสด็จ “เสด็จพ่อ“ และทรงงานอย่างเลขานุการในพระองค์ #สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ เป็นเวลานาน ประสบการณ์ในช่วงชนม์ชีพจึงเป็นคุณอเนกอนันต์ งานนิพนธ์อันทรงคุณค่าทั้งทางประวัติศาสตร์ พระพุทธศาสนา และธรรมเนียมประเพณี

และสิ้นชีพิตักษัยเมื่อวันที่ ๑๑ สิงหาคม ๒๕๓๓ เมื่อชันษา ๙๔ ปี.